แนวคิดการป้องกันแมลงรบกวนในโรงงานแปรรูปอาหาร ส่อง IPM แนวคิดการป้องกันแมลงรบกวนในโรงงานแปรรูปอาหาร 789 Views July 25, 2017 by Modern Manufacturing การเก็บรักษาผลผลิตและสินค้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแมลงรบกวนที่สามารถส่งผลเสียต่อธุรกิจได้อย่างร้ายแรง ซึ่งสภาพแวดล้อมต่างๆ ของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารนั้น มีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์และอยู่อาศัยของเหล่าแมลงรบกวน อันเป็นปัญหาหลักที่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีด้วยขั้นตอนที่มีประสิทธิผลและเด็ดขาด การปรับใช้แนวคิดของ Integrated Pest Management (IPM) หรือการบริหารจัดการแมลงรบกวนแบบผสมผสานโดยมุ่งเน้นการทำความเข้าใจสถานที่ตั้งและลักษณะของโรงงานเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการทำความเข้าใจแมลง ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและลักษณะที่แมลงจะตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ด้วยกระบวนการแยกแมลงออกจากพื้นที่ และการกำจัดแมลงผ่านขั้นตอนที่เป็นระบบ Integrated Pest Management
ขั้นตอนกระบวนการ IPM ที่ Environment Protection Agency (EPA) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา 1. วางรูปแบบการดำเนินการเบื้องต้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนควบคุมแมลงนั้นควรจะหาจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเสียก่อน ด้วยการระบุพื้นที่ที่ต้องการดำเนินการโดยดูจากปริมาณของแมลงหรือลักษณะสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง กำหนดระดับภัยคุกคามจากแมลงถือเป็นจุดสำคัญที่จะวางรากฐานสำหรับการตัดสินใจในการควบคุมแมลงต่อไปในอนาคต 2. จับตาและระบุรูปแบบแมลง การใช้งาน IPM ต้องมีการเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบและระบุรูปแบบของแมลง ทำให้สามารถวางแผนจัดการได้อย่างถูกต้อง การเผ้าระวังและระบุรูปแบบของแมลงนั้นจะช่วยให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในกรณีที่ไม่จำเป็นหรือใช้ยาไม่ตรงกับชนิดของแมลง 3. การป้องกัน การจัดการ IPM ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะเป็นการจัดการทั้งภายในและภายนอกของโรงงานเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากแมลง การป้องกันนั้นรวมถึงการลดปัญหาความยุ่งเหยิง ปิดและควบคุมพื้นที่ที่แมลงสามารถเข้ามาในอาคารหรือพื้นที่ที่ต้องการได้ ส่วนสำคัญก็คือการทำให้พื้นที่ปราศจากขยะและวัชพืชซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีสำหรับแมลงรวมถึง ทำให้แหล่งนำหรือพื้นที่ที่มีน้ำขังอยู่ห่างไกลจากตัวอาคารหรือพื้นเพาะปลูก 4. การควบคุม หากพบว่ากระบวนการป้องกันนั้นไม่ก่อเกิดประสิทธิผลได้ดังที่ตั้งเป้า ต้องดำเนินการยกระดับกระบวนการ IPM ขึ้นไปอีกระดับ มุ่งเน้นกระบวนการที่มีความเสี่ยงสำหรับการควบคุมแมลงได้น้อย รวมถึงการใช้สารเคมีอย่างตรงเป้าหมาย (เช่น การใช้สารฟีโรโมนเพื่อรบกวนการขยายพันธุ์ของแมลง) หรือการควบคุมทางกล (เช่น การวางกับดัก) อย่างไรก็ตาม หากเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง จะสามารถระบุถึงต้นตอและที่มาของปัญหาได้ ทำให้สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง เช่น การฉีดยาฆ่าแมลง สำหรับกระบวนการจัดการปัญหาเรื่องแมลงรบกวนนั้นจะเห็นได้ว่ามุ่งเน้นไปที่การป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น วางมาตรการป้องกันแมลงทั้งภายในพื้นที่อาคารและพื้นที่ภายนอก เช่น การจัดการที่ทิ้งขยะให้สะอาดและอยู่ในสภาพที่ถูกปิดเอาไว้เสมอ น้ำขังในพื้นที่ต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งแสงที่ดึงดูดแมลงภายในอาคารหรือหันมาใช้แสง LED ทดแทน มีการปิดประตูให้แน่นหนาหากบางพื้นที่จำเป็นต้องมีการเปิดประตูค้างเอาไว้หรือมีการเปิดปิดบ่อยควรจะติดตั้งม่านอากาศตรงบริเวณทางเข้า ควบคุมความสะอาดอย่างสม่ำเสมออีกทั้ง ควรทำงานร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทที่รับดูแลเกี่ยวกับการจัดการแมลง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด |